ขับเคลื่อนโดย Blogger.

อาการของมะเร็งกระเพราะอาหาร และ วิธีการรักษา

วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557



มะเร็งกระเพาะอาหารเป็นเนื้อร้ายที่มีอัตราการพบสูงในปัจจุบันขณะเดียวกันอัตราการตายจากมะเร็งกระเพาะอาหารก็ค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้นสาเหตุสำคัญที่เป็นเช่นนี้ เนื่องมาจากอาการโรคมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะเริ่มแรกแสดงออกอย่างไม่เด่นชัด ผู้ป่วยไม่สามารถค้นพบและรักษาได้ทันเวลา แล้วอาการมะเร็งกระเพาะอาหารในระยะแรกมีอาการเด่นชัดอะไรบ้าง?

ปัจจุบันเชื่อว่าการผ่าตัดสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนในการผ่าตัดสูงจะช่วย เลาะเอาต่อมน้ำเหลืองออกในบริเวณที่เสี่ยงทั้งหมดออก ช่วยทำให้ผู้ป่วยลดการเป็นซ้ำและมีโอกาสหายขาดมากกว่าเดิม ซึ่งกรณีที่เป็นมะเร็งระยะแรกถึงปานกลาง การผ่าตัดส่องกล้องมีบทบาทอย่างมากที่ช่วยลดการบาดเจ็บ แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว ในขณะที่สามารถให้ผลการผ่าตัดได้ดีเทียบเท่าการผ่าตัดแบบเปิดแผลใหญ่ที่หน้าท้องแบบเดิมๆ

นอกจากนี้กรณีที่มีการกระจายของมะเร็งในผนังช่องท้อง เมื่อก่อนถือว่าเป็นระยะที่รักษาให้หายขาดด้วยการผ่าตัดไม่ได้ ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับความร้อน มาใช้ในการผ่าตัด (HIPEC) ทำให้โอกาสหายขาดได้มากขึ้น โดยแพทย์เฉพาะทางต้องพิจารณาเป็นรายๆไป

มะเร็งกระเพราะอาหารคืออะไร ?

 มะเร็งของกระเพาะอาหารเป็นโรคมะเร็งที่เหมือนโรคมะเร็งอื่นๆ กล่าวคือ การที่เซลล์เยื่อเมือกมีการแบ่งจำนวนมากขึ้นอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดเป็นมะเร็งขึ้นมา และเจริญเติบโตลุกลามออกมาถึงบริเวณเยื่อบุผิวด้านนอก และลุกลามไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะรอบๆกระเพาะอาหารได้ เช่น ตับอ่อน หลอดอาหาร และลำไส้ นอกจากนั้นเซลล์มะเร็งเหล่านี้จะมีการแพร่กระจายเข้าสู่ระบบน้ำเหลือง หรือกระแสเลือด (โลหิต) ทำให้เกิดการแพร่กระจายของตัวโรคได้

อนึ่ง มะเร็งกระเพาะอาหารที่เกิดจากเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิด GIST (Gastrointes tinal Stromal Tumor) นั้นจะมีลักษณะการดำเนินของโรคและการรักษาที่แตกต่างจากมะเร็งกระเพาะอาหาร ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงในบทนี้ เพราะเป็นมะเร็งชนิดที่พบได้น้อย และโดยทั่วไป เมื่อกล่าวถึง โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร จะหมายถึง โรคมะเร็งที่เกิดจากเยื่อเมือก (Carcinoma of stomach)

ปัจจัยเสี่ยงสำหรับการเป็นมะเร็งกระเพราะอาหาร

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารที่แน่ชัด แต่มีหลายปัจจัยที่พบว่าสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ ดังนี้
  • อายุ เมื่ออายุมากขึ้นจะมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น 
  • เพศ เพศชายมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าเพศหญิง 2 เท่า
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • เชื้อชาติ พบในคนเอเชียได้มากกว่าชนชาติผิวขาวกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกา
  • อาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทหมักดอง ตากเค็ม รมควัน อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้มากขึ้น การรับประทานผักและผลไม้สดอาจช่วยลดความเสี่ยงลงได้
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ซึ่งเป็นเชื้อที่สามารถทำให้เกิดการอักเสบและแผลในกระเพาะอาหารได้ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้มากขึ้น
  • เคยได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารหรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคโลหิตจางบางชนิด โรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารสูงขึ้น
  • อาชีพ โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นและสารเคมีบางชนิดก่อให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ค่อยรับประทานผักและผลไม้
  • ภาวะอ้วน ผู้ชายที่มีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานมีโอกาสเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมาก ขึ้น แต่ในเพศหญิงยังไม่มีหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างความอ้วนกับการเกิดโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร

อาการของมะเร็งกระเพราะอาหาร

ในระยะเริ่มแรกของ มะเร็งกระเพาะอาหาร จะยังไม่มีอาการผิดปกติแสดงออกมา ต่อมาถ้าก้อนมะเร็งโตขึ้น ผู้ป่วยจะปวดท้อง รู้สึกหิวง่าย อาหารไม่ย่อย ท้องอืด แน่นตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือเหนือสะดือ แบบเดียวกับโรคกระเพาะ ทำให้ผู้ป่วยคิดว่าเป็นโรคกระเพาะธรรมดา กินยารักษาโรคกระเพาะอาการก็ทุเลาได้ แต่ต่อมายารักษาโรคกระเพาะทานไม่ได้ผล จะมีอาการรุนแรงอื่นๆ ตามมา เช่น
  1. คลื่นไส้ อาเจียน
  2. อาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ (เป็นสีเลือดเก่าที่ตกค้าง)
  3. คลำพบก้อนแข็งในท้อง ตรงบริเวณเหนือสะดือ แต่กดแล้วไม่เจ็บ
  4. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  5. กลืนอาหารลำบาก  
  6. คลำพบก้อนต่อมน้ำเหลืองที่แอ่งไหปลาร้าข้างซ้าย 

การวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

  1. ซักประวัติทางการแพทย์ต่างๆ เช่น ลักษณะอาการปวด และสีของอุจจาระ และการตรวจร่างกาย
  2. เอกซเรย์ทางเดินอาหารส่วนบน หรือการเอกซเรย์กลืนแป้ง เป็นการตรวจที่ให้ผู้ป่วยกลืนน้ำที่มีส่วนผสมของแป้งแบเรียม (Barium) ซึ่งเป็นผงสีขาวคล้ายแป้ง ซึ่งน้ำแป้งแบเรียมนั้นจะไปเคลือบผิวของหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร จึงเห็นรอยโรคได้จากการตรวจทางเอกซเรย์
  3. อัลตราซาวน์ภายในหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร (Endoscopic ultra sound) เพื่อดูรอยโรคว่ามีการลุกลามไปที่ชั้นต่างๆของกระเพาะอาหารชั้นใดบ้างหรือไม่
  4. เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง เพื่อดูรอยโรค ลักษณะของโรค และการแพร่ กระจายของโรคในช่องท้อง
  5. ตรวจส่องกล้องช่องท้องส่วนบน เพื่อดูรอยโรคบริเวณหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น นอกจากนั้นยังสามารถตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิ เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้อง
  6. การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) เพื่อประเมินสภาพร่างกายทั่วๆไปของผู้ป่วยก่อนการรักษา
  7. การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ
    • เพื่อดูว่าเป็นเบาหวานหรือไม่
    • เพื่อดูการทำงานของไต
    • เพื่อดูการทำงานของตับ
    • เพื่อดูระดับเกลือแร่
  8. การตรวจเลือดเพื่อหาสารมะเร็ง (Tumor marker) ชนิดซีอีเอ (CEA) ซึ่งค่านี้อาจจะปกติหรือผิดปกติก็ได้ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่ถ้าค่าผิด ปกติตั้งแต่แรกก่อนเริ่มการรักษาจะเป็นประโยชน์ในการตรวจติดตามโรคได้
  9. เอกซเรย์ปอด เพื่อดูความผิดปกติในช่องอก ปอด และการแพร่กระจายของโรคสู่ปอด
  10. การตรวจอุจจาระว่ามีเลือดออกร่วมด้วยหรือไม่ โดยการดูผ่านทางกล้องจุลทรรศน์
  11. การตรวจปัสสาวะ เพื่อประเมินสภาพร่างกายทั่วๆไปของผู้ป่วยก่อนการรักษา 

วิธีการรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

การผ่าตัด เป็นวิธีหลักในการรักษา มะเร็งกระเพาะอาหาร อาจเป็นการผ่าตัดกระเพาะอาหารออกบางส่วน หรือทั้งหมด

เคมีบำบัด หรือ ทำคีโม โดยการให้ยาทางหลอดเลือด เพื่อไปทำลายเซลล์มะเร็ง จึงอาจมีผลข้างเคียงคือ ทำให้เม็ดเลือดขาวลดลง จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น ทำให้เม็ดเลือดแดงลดลง จนมีอาการอ่อนเพลีย เลือดออกง่ายขึ้น อีกทั้งยังเกิดผมร่วงมากขึ้น และมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนอีกด้วย  

รังสีบำบัด หรือการฉายแสง โดยการให้รังสีที่มีพลังงานสูงไปทำลายเซลล์มะเร็ง ในผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร จะให้รังสีบริเวณช่องท้องส่วนบน อาจมีผลข้างเคียงทำให้คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ถ่ายเหลว และมีอาการแดงบริเวณผิวหนังที่ได้รับรังสีได้ แต่อาการเหล่านี้สามารถรักษาได้

ทั้งนี้ในผู้ป่วย มะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะที่ 1-2 แพทย์จะใช้วิธีการผ่าตัดกระเพาะอาหาร และให้เคมีบำบัดต่อเนื่องระยะหนึ่ง เพื่อควบคุมไม่ให้มะเร็งกระจายตัว การรักษาในขั้นนี้เป็นไปเพื่อให้โรคทุเลาลง หายขาด และมีอายุยืนยาว

แต่สำหรับรายที่เป็น มะเร็งกระเพาะอาหาร มากๆ จะต้องให้เคมีบำบัดเป็นหลัก ร่วมกับการฉายแสง การผ่าตัดอาจทำได้เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร เช่น มีก้อนมะเร็งไปอุดกั้นทางเดินอาหาร การรักษาขั้นนี้ เป็นไปเพื่อบรรเทาภาวะแทรกซ้อน ไม่ได้มุ่งหวังในโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร หายไป

อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยเป็นโรค มะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะแรกๆ ก็สามารถรักษาให้หายได้ แต่หากเป็น มะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะสุดท้าย ก็จะทำได้เพียงแค่ประคับประคอง เพื่อไม่ให้ทุกข์ทรมาน และมักจะเสียชีวิต โดยทั่วไปผู้ป่วย มะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะที่ 4 จะมีเสียชีวิตอยู่ได้ประมาณ 6-12 เดือน แต่หากดูแลรักษาร่างกายให้ดี อาจมีชีวิตอยู่ได้นานกว่านี้

อาการปวดท้องโรคกระเพราะ

วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2557

อาการปวดท้องโรคกระเพราะ

Dyspepsia คือ อาการปวดท้อง หรือไม่สบายท้องที่สันนิษฐานว่าน่าจะมีสาเหตุจากความผิดปกติ ของกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น โดยอาการเหล่านี้ได้แก่
     1.  ปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ (Epigastric pain)
     2.  แสบร้อนท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ (Epigastricburning)โดยไม่ร้าวขึ้นไปบริเวณหน้าอก
     3.  แน่นหรืออึดอัดท้องหลังมื้ออาหาร(Post-prandial fullness) คือ ความรู้สึกไม่สบายเหมือนกับว่าอาหารค้างอยู่ในกระเพาะนานผิดปกติ
     4.  อิ่มเร็วกว่าปกติ (Early satiation)
  
     ผู้ป่วย dyspepsia บางรายอาจจะมีอาการเรอ หรือคลื่นไส้อาเจียนได้ บางรายอาจจะมีแสบร้อนหน้าอกหรือเรอเปรี้ยวได้นานๆครั้ง แต่ไม่ใช่อาการเด่น หากมีอาการแสบร้อนหน้าอกหรือน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารวิ่งขึ้นมาที่ลำคอเป็น อาการเด่นจะเป็นภาวะกรดไหลย้อน

กลไกการเกิดโรค
     1.   Delay gastric emptying time คือระยะเวลาที่ใช้ในการบีบตัวของกระเพาะอาหารเพื่อดันอาหารลงสู่ลำไส้เล็กนานกว่าปกติ
     2.   Impaired gastric accommodation คือ การคลายตัวของกระเพาะอาหารส่วนต้นหลังรับประทานอาหารทำได้น้อยกว่าปกติ จึงทำให้แรงดันในกระเพาะอาหารสูงขึ้น
          และไปกระตุ้นตัวรับความรู้สึกบริเวณผนังกระเพาะอาหารทำเกิดอาการ
     3.  Hypersensitivity to gastric distention คือ การรับรู้ความรู้สึกของกระเพาะอาหารที่ไวกว่าคนปกติ

ผู้ป่วยรายใดบ้างที่ควรได้รับการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนต้น
     1.  มีสัญญาณอันตราย ได้แก่
          - กลืนลำบาก
          - มีประวัติอาเจียนเป็นเลือด,ถ่ายอุจจาระสีดำ หรือมีภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก
          - น้ำหนักลดโดยไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้
          - อาเจียนต่อเนื่อง
     2.  อายุเมื่อเริ่มมีอาการมากกว่า55ปีขึ้นไป และไม่มีประวัติให้สงสัยว่ายาหรืออาหารอาจเป็นสาเหตุ เนื่องจากอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารจะสูงขึ้น
          เมื่ออายุมากขึ้น
     3.  ผู้ป่วยอายุน้อยที่ไม่มีสัญญาณอันตรายแต่อาการไม่ดีขึ้นหรือกลับเป็นซ้ำ บ่อยๆหลังได้รับการรักษาด้วยยาแบบครอบคลุม ควรพิจารณารับการส่องกล้อง

ยาที่ทำให้เกิดอาการdyspepsia
     -  ยาแก้ปวดNSAIDSและaspirin
     -  ยาปฏิชีวนะได้แก่ penicillin, sulfonamide, macrolide, doxycycline, tetracycline
     -  ยาประเภทฮอร์โมน ได้แก่ insulin, ยากินเพื่อลดระดับน้ำตาล, estrogen, corticosteroid
     -  ยาที่มีฤทธิ์ต่อหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ digoxin, calcium channel blocker
     -  โปแตสเซี่ยม
     -  ยาที่มีผลต่อกล้ามเนื้อและกระดูก ได้แก่ alendronate
     -  ยาขยายหลอดลม ได้แก่ theophylline

คำแนะนำการปฏิบัติตัว
     1.  หลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มที่ทำให้อาการกำเริบ เช่น อาหารเผ็ด รสจัด ของหมักดอง น้ำอัดลม กาแฟ โกโก้และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
     2.  งดหรือลดการสูบบุหรี่
     3.  ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
     4.  หลีกเลี่ยงการใส่กางเกง กระโปรงหรือคาดเข็มขัดที่รัดแน่นเกินไป
     5.  ไม่ควรเข้านอนทันทีหลังกินอาหารอิ่มใหม่ๆ ควรรออย่างน้อย2-3ชั่วโมง
     6.  ออกกำลังกายแบบแอโรบิคอย่างสม่ำเสมอ 20-40นาทีต่อครั้ง3-5 ครั้งต่อสัปดาห์ และไม่ควรออกกำลังกายทันทีหลังกินอาหาร

การให้ยาแบบครอบคลุม(Empyrical treatment)
     ผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า55ปี ไม่มีสัญญาณอันตราย อาการไม่ได้เกิดจากยาใดๆ และอาการไม่ดีขึ้นหลังได้รับคำแนะนำเรื่องอาหารและการปฏิบัติตัว อาจพิจารณาให้ยาแบบครอบคลุม ได้แก่
     1.  ยาที่ออกฤทธิ์ลดการหลั่งกรด โดยเลือกใช้หากอาการปวดท้อง (Epigastric pain) หรือแสบท้อง (Epigastric burning) เป็นอาการเด่น
     2.  ยากลุ่มprokineticเลือกใช้หากอาการแน่นหลังกินอาหาร (Post-prandial fullness) หรืออาการอิ่มเร็ว(Early satiation)เป็นอาการเด่น

    หากไม่ตอบสนองต่อยากลุ่มแรกหลังได้ยาเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ พิจารณาเปลี่ยนเป็นยาอีกกลุ่มหนึ่งได้  กรณีที่ผู้ป่วยมีทั้งอาการปวดหรือแสบและแน่นท้องรุนแรงใกล้เคียงกัน อาจพิจารณาให้ยาทั้งสองกลุ่มร่วมกันได้

แหล่งที่มา: http://sriphat.med.cmu.ac.th/thai/knowledge-14

วิธีรักษา โรคกระเพาะอาหารอักเสบ

วิธีรักษา โรคกระเพาะอาหารอักเสบ

โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) คือ โรคที่เกิดจากมีการอักเสบ บวม แดง ของเยื่อเมือกบุภายในกระเพาะอาหาร เป็นโรคพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และพบโรคเกิดได้ใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย

โรคกระเพาะอาหารอักเสบ เป็นโรคพบได้บ่อย แต่สถิติการเกิดโรคไม่ชัดเจน ทั้งนี้เพราะเมื่อผู้ป่วยพบแพทย์ แพทย์มักให้การรักษาตามอาการ เมื่ออาการดีขึ้น จึงไม่มีการตรวจเพื่อการวินิจฉัยที่แน่ชัด ซึ่งคือ การส่องกล้องกระเพาะอาหารและตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา การส่องกล้องและการตัดชิ้นเนื้อ มักเป็นการตรวจภายหลังเมื่อให้การรักษาในเบื้องต้นแล้ว ผู้ป่วยยังคงมีอาการอยู่ ไม่ดีขึ้น มีอาการเลวลง หรือมีอาการเป็นๆหายๆเรื้อรังเป็นเดือน ทั้งนี้ มีรายงานจากประเทศสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยที่มีอาการและแพทย์วินิจฉัยขั้นต้นว่า เป็น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ สูงถึงประมาณ 1.8-2.1 ล้านคนต่อปี

โรคกระเพาะอาหารอักเสบ เมื่อมีอาการและรักษาได้หายภายในประมาณ 1-3 สัปดาห์ เรียกว่า โรคกระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน แต่เมื่อมีอาการเรื้อรัง เป็นๆหายๆ นานเป็นเดือน หรือ เป็นปี เรียกว่า โรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง

โรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง จะส่งผลให้เซลล์เยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารมีปริมาณลดลง เกิดการฝ่อลีบ และเซลล์เยื่อเมือกอาจมีการเปลี่ยนแปลงผิดปกติสูง ซึ่งเพิ่มโอกาสกลายพันธุ์เป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้สูงกว่าคนทั่วไป ถึงประมาณ 10 เท่า และถ้ากระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย เอช ไพโลไร (Helicobacter pylori หรือ H. pylori) ซึ่งอาจติดต่อได้จากการสัมผัสน้ำลาย และ/หรือ อุจจาระของคนที่เป็นโรค จากการปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม จะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของกระเพาะอาหาร หรือโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ประมาณ 1-2 %

นอกจากนั้น การลดปริมาณลงของเซลล์เยื่อเมือกจะลดการสร้างสารซึ่งเป็นตัวช่วยการดูดซึมวิตามิน บี 12 ซึ่งเป็นวิตามินที่ร่างกายใช้ในการช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ผู้ป่วยจึงอาจเกิดภาวะซีดได้อีกด้วย

สาเหตุของการเกิด โรคกระเพาะอาหารอักเสบ

กลไกของการเกิดกระเพาะอาหารอักเสบเกิดจากการหลั่งกรดที่มากขึ้น(Hyperacidity)และคั่งค้างอยู่นานในกระเพาะ(Delay gastric emptying time) ก่อให้เกิดการบาดเจ็บของเยื่อบุกระเพาะอาหาร มีสาเหตุจาก
  1. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  2. ยาแก้ปวดข้อ เช่น Aspirin, Ibuprofen หรือยาซองแก้ปวด
  3. ความเครียดรุนแรง
  4. การติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารคือ H. pylori

อาการของ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ

1. ปวดท้องลักษณะอาการปวดท้องที่สำคัญ คือ
    1.1. ปวดบริเวณลิ้มปี ปวดแบบแสบๆหรือร้อนๆ ปวดเรื้อรังมานาน เป็นๆ หายๆ เป็นเดือนหรือเป็นปี
    1.2. ปวดสัมพันธ์กับอาหาร เช่น ปวดเวลาหิวหรือท้องว่างเมื่อกินอาหารหรือนม จะหายปวดบางรายจะปวดหลังจากกินอาหารหรือนมจะหายปวดบางรายจะปวดหลังจากกินอาหาร
    1.3. ปวดกลางดึกก็ได้
    1.4. อาการจะเป็นๆ หายๆ
2. จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ เรอลม มีลมในท้อง ร้อนในท้อง คลื่นไส้อาเจียน
3. อาการโรคแทรกซ้อน ได้แก่แผลกระเพาะอาหาร
    3.1. อาเจียนเป็นเลือดดำ หรือแดง หรือถ่ายดำ เนื่องจากมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น
    3.2. ปวดท้องรุนแรง และ ช๊อค เนื่องจากแผลกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กทะลุ
    3.3. ปวดท้องและอาเจียนมาก เนื่องจากการอุดต้นของกระเพาะอาหาร
อาการของโรคกระเพาะอาหารจะไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค บางรายไม่มีอาการปวดท้อง แต่มีแผลใหญ่มากในกระเพราะอาหาร หรือลำไส้ บางรายปวดท้องมากแต่ไม่มีแผลเลยก็ได้

การวินิจฉัย โรคกระเพาะอาหารอักเสบ

ใช้อาการทางคลินิกเป็นสำคัญ ร่วมกับประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ กินยาซอง ยาแก้ปวดข้อ ปวดรอบเดือน ปวดไมเกรน  อาจต้องวินิจฉัยแยกโรคจากแผลในกระเพาะอาหาร(Peptic ulcer) ซึ่งมักจะมีอาการปวดบิดๆเป็นพักๆร่วมกับเวลากลางคืน หรือ นิ่วในถุงน้ำดี(Gall stone) ซึ่งมักจะปวดตื้อๆบริเวณชายโครงด้านขวาเป็นเวลานาน หรือตับอ่อนอักเสบ(Pancreatitis)ซึ่งมักจะปวดทะลุหลังร่วมกับมีไข้ หรือกระเพาะเครียด(Functional dyspepsia)ซึ่งแยกกับกระเพาะอาหารอักเสบได้ยาก

ในกรณีที่อาการไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรือเกิดขึ้นซ้ำหลังจากที่รักษาหายไปแล้ว โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์หรือยาแก้ปวด หรือสงสัยว่าอาการเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย H. pylori การตรวจเพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัย โรคกระเพาะอาหาร อักเสบที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ การใช้กล้องส่องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน (Upper GI endoscopy) ส่วนการกลืนแป้งฉายภาพรังสี(Upper GI study หรือ GISM)นั้น ให้ประโยชน์ไม่ช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้ ก่อนที่ผู้ป่วยจะส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบนนั้น จะต้องงดอาหารก่อนตรวจ 6ชม. ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานควรงดยาเบาหวานในเช้าวันนั้น สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงสามารถรับประทานยาลดความดันโดยดื่มน้ำเปล่าเล็กน้อย หากมีฟันปลอมชนิดถอดได้ควรถอดเพื่อป้องกันฟันปลอมหลุดเข้าไปในช่องลำคอหรือหลอดลม

วิธีรักษา โรคกระเพาะอาหารอักเสบ

1. การบรรเทาอาการปวดท้อง ใช้หลักการของด่างมาสะเทิ้นกรดภายในกระเพาะ ยาที่นิยมใช้คือยาธาตุน้ำขาว(Alum milk) หรือใช้เป็นยาเม็ดอลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ก็ได้ผลเช่นกัน  ซึ่งในกรณีของยาเม็ดควรเคี้ยวก่อนกลืนเพราะยาเม็ดบางชนิดแตกตัวในกระเพาะอาหารช้า ยากลุ่มนี้จะรับประทานก่อนอาหาร 3เวลา หรืออาจรับประทานเพิ่มเติมเมื่อมีการปวดระหว่างมื้อ  นอกจากนี้ควรเลี่ยงอาหารรสจัด น้ำอัดลม กาแฟซึ่งอาจกระตุ้นอาการปวดท้อง

2. การรักษาการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร  ใช้ยารักษานาน 14วัน นิยมใช้ยาลดการหลั่งกรด(Acid suppression) ได้แก่ ยากลุ่ม H2 receptor antagonists หรือยากลุ่ม Proton pump inhibitors เพราะหาซื้อได้สะดวกตามร้านขายยา ส่วนยากลุ่ม Cytoprotective เช่น Sucralfate หรือ Bismuth ก็สามารถใช้ได้

3. การป้องกันการเกิดซ้ำ คือการป้องกันสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ โดยหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด หรือยาแก้ปวดข้อ การออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันโรค

4. การป้องกันภาวะแทรกซ้อน ส่วนใหญ่ภาวะแทรกซ้อนมักเกิดจากยาแก้ปวดข้อ เนื่องจากยานี้จะลดอาการปวดได้ขณะที่ยากัดกระเพาะ ทำให้อาการปวดท้องซึ่งเป็นอาการเตือนถูกบดบัง ภาวะแทรกซ้อนมักเกิดในผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นแผลในกระเพาะมาก่อน ผู้ป่วยที่รับประทานยาชุด-ยาลูกกลอน เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมา การรักษามักจะต้องใช้การส่องกล้องรักษาหรืออาจต้องผ่าตัดถ้ามีกระเพาะอาหารทะลุ


สมุนไพรสำหรับรักษา โรคกระเพาะ

วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2557


สมุนไพรสำหรับรักษา โรคกระเพาะ


โรคกระเพาะ หรือโรคแผลในกระเพาะอาหาร หมายถึง แผลที่เกิดขึ้นในเยื่อบุทางเดินอาหารส่วนที่สัมผัสกับน้ำย่อย มักมีอาการปวดแสบ ปวดตื้อ ปวดเสียด หรือจุกแน่น ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ อาการปวดเหล่านี้ เป็นได้ทั้งเวลาก่อนกินอาหาร หรือหลังกินอาหารใหม่ๆ และเวลาท้องว่าง บางคนอาจเป็นๆ หายๆ เวลาเป็นมักจะปวดนานครั้งละ 15-30 นาที วันละหลายครั้งตามมื้ออาหาร อาการปวดจะลดลงถ้าได้กินข้าว ดื่มน้ำ ดื่มนม หรือกินยาลดกรด

สาเหตุของการเกิดโรคกระเพาะ

เชื่อกันว่าส่วนใหญ่มาจากการมีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป ซึ่งอาจมีผลมาจากความเครียด ความวิตกกังวล การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ กินอาหารไม่เป็นเวลา อาหารรสจัด รวมทั้งปัจจัยทางกรรมพันธุ์เป็นสาเหตุหลัก นอกจากนี้ ยังเกิดจากการที่เยื่อบุกระเพาะอาหารอ่อนแอลง อันเป็นผลมาจากการกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ยาชุดที่มีแอสไพริน และยาสเตียรอยด์ รวมทั้งการติดเชื้อ "เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร" (Helicobacter) เชื่อว่าติดต่อโดยการรับประทานอาหาร น้ำ ที่มีเชื้อตัวนี้อยู่ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้เช่นกัน เพราะเชื้อนี้ทำให้ผนังกระเพาะอาหารอ่อนแอลง จึงมีความทนต่อกรดและน้ำย่อยลดลง

 ในทางการแพทย์แผนไทย การที่มีกรดมากเกินไป การเป็นแผลในกระเพาะอาหาร การมีเลือดออก คือ การกำเริบของธาตุไฟ

กระเพาะอาหารเป็นอวัยวะที่ไวต่ออารมณ์ความรู้สึกมากที่สุด โรคกระเพาะจึงเป็นผลพวงของความผิดปกติของวาตะได้มากเช่นกัน ดังนั้น คนที่มีแต่ความเครียด คิดมาก วิตกกังวล เช่น นักธุรกิจที่ต้องแข่งขันสูง นักศึกษาที่เครียดจากการเรียนการสอบ มักจะป่วยเป็นโรคกระเพาะ เนื่องจากความเครียดจะทำให้ผนังกระเพาะบางลง เลือดไปเลี้ยงกระเพาะน้อยลง การหลั่งกรดไม่สม่ำเสมอ บางครั้งมากไป บางครั้งน้อยไป ซึ่งเป็นผลเสียทั้งสองแบบ ถ้ากรดหลั่งมากไปก็นำไปสู่การย่อยผนังกระเพาะ ถ้าน้อยไปอาหารก็จะไม่ย่อย เกิดการหมักหมม เกิดแก๊สนำไปสู่การเกิดแผลในกระเพาะได้เช่นกัน กล่าวคือ แม้ความผิดปกติจะเริ่มจากธาตุลม แต่ก็นำไปสู่การกำเริบของธาตุไฟได้เช่นกัน

การรักษากระเพาะอาหาร

มุ่งเน้นการปรับสมดุลโดยใช้ทั้งอาหาร ยาสมุนไพร การออกกำลังกาย การฝึกจิต โรคกระเพาะเป็นโรคหนึ่งที่จะต้องรักษาแบบองค์รวม เริ่มจากการปรับการทำงานของธาตุลม โดยการฝึกทางจิต ฝึกการหายใจ เพื่อลดความเครียด ทำให้จิตใจปล่อยวาง ในส่วนของการปรับสมดุลของธาตุไฟ ต้องงดอาหารที่จะไปเพิ่มธาตุไฟเช่น ของหมักดอง อาหารรสจัด อาหารมัน อาหารทอด อาหารรสหวานจัด เหล้า บุหรี่ นอกจากนี้ต้องกินอาหารที่ไม่ไปรบกวนการทำงานของธาตุ เช่น อาหารย่อยง่าย ผักสด เป็นต้น

การใช้สมุนไพรรักษาโรคกระเพาะ

มุ่งเน้นการลดธาตุไฟ เป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติเย็น รสขม มีคุณสมบัติหล่อลื่น ช่วยรักษาแผล เช่น วุ้นว่านหางจระเข้ รากสามสิบ กระเจี๊ยบมอญ บัวบก กะหล่ำปลี ชะเอม บอระเพ็ด กล้วยหักมุก หรือกล้วยน้ำว้าแก่จัด (ไม่ใช้กล้วยหอมเนื่องจากกล้วยหอมมีคุณสมบัติร้อน) และในส่วนของเครื่องเทศ เพื่อเป็นการเพิ่มอัคนีหรือไฟธาตุในการช่วยย่อยอาหาร ขมิ้นชันจึงเป็นสมุนไพรที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง เพราะไม่ร้อนมากเกินไป ทั้งยังช่วยรักษาแผล ลดการหลั่งของกรดได้อีกด้วย

ยังมีสมุนไพรที่น่าสนใจดังนี้

 1. ว่านหางจระเข้ สามารถใช้วุ้นว่านหางจระเข้รักษาโรคกระเพาะได้เช่นกัน

 2. กะหล่ำปลี แม้ว่ากะหล่ำปลีจะไม่ใช่สมุนไพรไทยมาแต่เดิม แต่หมอชาวโรมันใช้กะหล่ำปลีรักษาโรคกระเพาะอาหาร อาการนอนไม่หลับ อาการปวดท้อง เป็นต้น เนื่องจากสารในกระหล่ำปลีมีคุณสมบัติลดการอักเสบ และกระตุ้นการสร้างเยื่อเมือกเพื่อไปปกป้องผนังกระเพาะอาหารและลำไส้ ไม่ให้เกิดแผลจากการย่อยของกรด กะหล่ำปลียังมีสารที่ช่วยสมานแผลในกระเพาะ นอกจากนี้ กะหล่ำปลียังช่วยคลายเครียดได้ดีอีกด้วย

 3. ขมิ้นชัน เป็นสมุนไพรที่คนไทยใช้รับประทานเป็นอาหาร เป็นยา และใช้เป็นเครื่องสำอางมาอย่างยาวนาน ด้วยคุณสมบัติที่เป็นเครื่องเทศช่วยย่อยอาหาร สามารถใช้ได้กับทุกคนแม้กระทั่งในเด็ก และสามารถใช้เป็นยาทั้งภายในและภายนอก โดยยาภายนอกใช้รักษาแผลสด ช้ำบวม แมลงสัตว์กัดต่อย ยุงกัด และปัจจุบันยังพบว่าขมิ้นชัน มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ต้านการอักเสบ ฆ่าเชื้อ ขับลม จึงเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคกระเพาะเป็นอย่างยิ่ง

 สิ่งสำคัญของการรักษาโรคกระเพราะ คือ ผู้ป่วยควรตระหนักว่าการรักษาโรคกระเพาะต้องใช้เวลาและวินัยในการปฏิบัติตัวอย่างยิ่ง ดังนั้น การพักผ่อนให้เพียงพอ การกินอาหารให้เป็นเวลา เคี้ยวให้ละเอียด หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยาก การดื่มน้ำระหว่างมื้อให้มากๆ ลดความเครียด ความกังวล สิ่งเหล้านี้ล้วนเป็นตัวยาที่สำคัญในการรักษาโรคกระเพาะทั้งสิ้น

แหล่งที่มา: http://www.oknation.net/blog/print.php?id=843516

สาเหตุของ โรคกระเพาะอาหาร เกิดจากอะไร

สาเหตุโรคกระเพาะอาหาร เกิดจากอะไร


อาการปวดท้อง (abdominal pain) ที่มีสาเหตุจากอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ภายในช่องท้อง ซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่ตับทางชายโครงขวา ม้ามทางชายโครงซ้าย กระเพาะอาหาร 9 และหลอดอาหารตรงกลาง ต่ำลงไปเป็นตับอ่อน ลำไส้เล็ก และลำไส้ใหญ่ ในสตรีมียังมีอวัยวะสืบพันธุ์สตรีที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปวดท้องได้ เช่น มดลูก ปีกมดลูก และรังไข่ ส่วนกระเพาะปัสสาวะที่อยู่ในอุ้งเชิงกรานนั้น ถ้าเกิดการอักเสบ ย่อมก่อให้เกิดปัญหาปวดท้องได้เช่นกัน

เนื่องจากอาการปวดท้องนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุมาก ตั้งแต่โรคง่ายๆ ที่ไม่มีอันตรายมากนัก เช่น อาหารไม่ย่อย ท้องอืดท้องเฟ้อ โรคกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ อักเสบ หรือปวดประจำเดือน ซึ่งอาจหายได้เอง หรือเมื่อได้รับยาบรรเทาอาการก็จะดีขึ้น ไปจนถึงโรคบางโรค ซึ่งเป็นโรคร้ายแรง ถ้าวินิจฉัยผิดพลาด หรือให้การรักษาไม่ถูกต้องตั้งแต่แรก ก็อาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ แผลในกระเพาะอาหารทะลุ ถุงน้ำดีอักเสบ ตับอ่อนอักเสบ ลำไส้อุดตันหรือตีบตัน ท้องนอกมดลูก หรือถุงน้ำของรังไข่แตก เป็นต้น

ดังนั้น การที่ผู้ป่วย หรือผู้ใกล้ชิดที่ดูแลผู้ป่วย สามารถให้รายละเอียดเกี่ยวกับอาการปวดท้องได้มากเท่าใด แพทย์ก็จะสามารถวินิจฉัยโรคเบื้องต้นได้และทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมได้ถูกต้อง รวดเร็ว โดยไม่เสียเวลา หรือสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น

สาเหตุโรคกระเพาะอาหาร

  1.  อาการปวดท้องเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาการอาจเป็นแค่ปวดเล็กน้อย หรือปวดมากและรุนแรงมากได้ อาการปวดมักจะไม่จำเพาะเจาะจง เนื่องจากอวัยวะในช่องท้องมีมากมายหลายอย่าง
  2.  โดยทั่วไปอาการปวดท้องเกิดจากอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ยกตัวอย่างเช่น ไส้ติ่งอักเสบ ท้องเสีย และอาหารเป็นพิษ เป็นต้น
  3.  สาเหตุที่ทำให้ปวดท้องอาจแบ่งเป็นชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง
  4.  โรคที่คนส่วนใหญ่กลัว ได้แก่ ไส้ติ่งอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ โรคแผลในกระเพาะอาหาร ภาวะการติดเชื้อ และอาการที่เกิดจากการตั้งครรภ์
  5.  โรคบางอย่างที่อาจต้องนึกถึงด้วย ได้แก่ โรคของหลอดเลือดขนาดใหญ่ในช่องท้อง อาการหัวใจวายเฉียบพลัน ตับและตับอ่อนอักเสบ นิ่วในไต รวมทั้งโรคของลำไส้บางชนิด
  6.  อาการปวดท้องอาจไม่ได้เกิดจากอวัยวะในช่องท้อง โรคหัวใจและปอดอักเสบอาจก่อให้เกิดอาการปวดท้องที่รุนแรงได้เช่นกัน
  7.  ในเพศหญิงต้องนึกถึงสาเหตุจากอวัยวะในอุ้งเชิงกรานด้วย
  8. ผู้ป่วยที่เป็นโรคงูสวัดที่บริเวณท้องจะมีอาการปวดท้องที่รุนแรงโดยที่อวัยวะภายในไม่ได้มีความผิดปกติแต่อย่างใด
  9. อาการเป็นพิษบางอย่างทำให้เกิดอาการปวดท้องได้ เช่น แมลงกัดสัตว์ต่อย

อาการโรคกระเพาะอาหาร

  1.  อาการปวดท้องอาจมีลักษณะปวดเสียด ปวดตื้อๆ ปวดบิด บางครั้งปวดไม่นาน ปวดแค่ไม่กี่นาทีแล้วก็หายปวด หรือปวดท้องชนิดไม่หายเสียที
  2.  บางครั้งปวดท้องแล้วอาเจียน หลังจากได้อาเจียนอาจรู้สึกดีขึ้นบ้าง
  3.  ลักษณะของอาการปวดท้องและตำแหน่งที่ปวดช่วยในการวินิจฉัยโรคได้ เช่นเดียวกับความรุนแรงของอาการปวดท้อง และช่วงเวลาที่เกิดอาการปวดท้อง
  4.  การบันทึกติดตามอาการปวดท้องที่เกิดขึ้นภายในเวลา 2-3 วัน ช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของอาการต่างๆที่อาจเกิดขึ้นร่วมด้วย
  5.  อาการปวดท้องที่มีสาเหตุจากการอักเสบของไส้ติ่งนั้น มักจะเป็นการปวดเจ็บเฉพาะที่ท้องน้อยข้างขวา แต่อาจเริ่มแถบบริเวณรอบสะดือ อาการปวดอาจเริ่มน้อยๆ ก่อน แล้วเพิ่มความรุนแรงจนตัวงอ บริเวณที่รู้สึกปวดมักมีอาการเจ็บมากขึ้น ถ้าใช้นิ้วกดลงบริเวณนั้น

การวินิจฉัยโรคกระเพาะอาหาร

  1.  โดยเฉลี่ยแล้วประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยที่มีอาการปวดท้อง จะตรวจพบสาเหตุที่ชัดเจน ในขณะที่อีกครึ่งหนึ่งที่เหลือดมักจะไม่ตรวจไม่พบสาเหตุ
  2.  อาการอาจทุเลาน้อยลงไปโดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าปวดท้องจากอะไร แต่ถ้ายังคงมีอาการปวดท้องอยู่ ส่วนใหญ่จะพบสาเหตุในเวลาต่อมาไม่นาน

รายละเอียดอาการปวดท้องที่ช่วยในการวินิจฉัยโรค

ตำแหน่งหรือบริเวณที่เริ่มปวด เช่น บริเวณลิ้นปี่ รอบๆ สะดือ หน้าท้องส่วนบน ใต้ชายโครงขวา หรือซ้าย ท้องน้อยตรงกลาง เหนือหัวเหน่า หรือท้องน้อย

แหล่งข้อมูล:
ที่มา : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ
ศูนย์ข้อมูลสุขภาพกรุงเทพ

วิธีแก้อาการปวดท้องโรคกระเพาะ ด้วยกล้วยน้ำว้า

วิธีแก้อาการปวดท้องโรคกระเพาะ ด้วยกล้วยน้ำว้า

กล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ที่ใกล้ชิดคนไทยที่สุด เด็กไทยสมัยก่อนโตมากับกล้วยน้ำว้ากันทั้งนั้น นอกจาก ข้าวสุกบดแล้ว ก็มีกล้วยน้ำว้าเป็นเหมือนอาหารเสริมประจำที่ไม่ต้องซื้อหาเพราะทุกครัวเรือนมีกล้วยปลูกไว้สำหรับเป็นผลไม้ เป็นอาหารและสารพัดขนมกินกันได้ตลอดทั้งปี

กล้วยน้ำว้าใช้ทำยาได้ทั้งดิบและสุก กล้วยดิบมีสารฝาดสมานชื่อแทนนิน ซึ่งช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ช่วยป้องกันผนังกระเพาะลำไส้ไม่ให้เชื้อโรคและของรสเผ็ดจัด เช่น พริก เข้าไปทำลายผนังกระเพาะลำไส้ ช่วยแก้ท้องเสีย กล้วยที่เพิ่งเริ่มสุก เปลือกยังสีเขียวอยู่ประปราย เป็นทั้งยาและอาหารที่ดีมากสำหรับคนท้องเสีย เพราะนอกจากจะช่วยแก้ท้องเสียแล้วยังช่วยหล่อลื่นลำไส้ ช่วยเพิ่มกากเวลาถ่าย กล้วยกึ่งดิบกึ่งสุกยังมีธาตุโพแทสเซียมสูงมาก ดังนั้นเวลาใช้กล้วย แก้ท้องเสีย ก็เท่ากับให้ธาตุโพแทสเซียมไปในตัวด้วย ตามธรรมดาคนไข้มักสูญเสียธาตุโพแทสเซียมในเวลาท้องร่วง การกล้วยห่ามจึงเป็นการชดเชยธาตุโพแทสเซียมที่เสียไป เพราะถ้าร่างกายสูญเสียธาตุโพแทสเซียมไปมากๆ ขณะท้องร่วง จะทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติในคนชราอาจทำให้หัวใจวายตายได้ ยิ่งไปกว่านั้นกล้วยที่เริ่มสุกจะมีสารเซโรโทนินอยู่มาก ช่วยออกฤทธิ์ กระตุ้นให้ผนังกระเพาะอาหารสร้างเยื่อเมือกมากขึ้น ช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหาร แต่ไม่ช่วยลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร

วิธีการกินกล้วยเป็นยาก็ไม่ใช่เรื่องกล้วยๆ เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อกินเป็นยาแก้โรคกระเพาะ ควรนำกล้วยดิบมาฝานเป็นแว่นบางๆ แล้วอบให้แห้งที่อุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส ห้ามใช้ความร้อนสูงกว่านี้เด็ดขาด เพราะสารในกล้วยมีฤทธิ์รักษาโรคกระเพาะนั้นจะสูญเสียไปหรือหมดฤทธิ์ไปเลยก็ได้ ถ้าโดนความร้อนสูงมากเกินไป กล้วยดิบที่ผ่านการอบอุณหภูมิต่ำแล้ว ให้นำมาบดเป็นผง กินครั้งละ 1 ช้อนชา จะผสมกับน้ำผึ้งหรือไม่ก็ได้ กิน 3 ครั้งก่อนอาหาร กล้วยดิบๆมีฤทธิ์ทั้งป้องกันและรักษาโรคกระเพาะ ส่วนยาแผนปัจจุบันทุกขนานที่ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหารนั้นมีฤทธิ์เพียงป้องกันแต่ไม่ช่วบรักษา กล้วยจึงเป็นยารักษาโรคกระเพาะที่มีราคาถูกที่สุด และหาง่ายที่สุด

ส่วยกล้วยน้ำว้าสุกนั้นกลับมีสรรพคุณ ตรงกันข้ามกับกล้วยดิบ คือกล้วยสุกกลับเป็นยาระบายแก้ท้องผูก เพราะมีสาร เพ็กติน อยู่มาก ช่วยเพิ่มกากในลำไส้ กล้วยที่สุกงอมมากๆจะมีฤทธิ์ระบายสูง เพราะมีสารเพ็กติน มากขึ้นนั่นเอง ฤทธิ์ระบายของกล้วยน้ำว้าสุกไม่รุนแรงมากต้องกินเป็นประจำวันละ 5-6 ลูก จึงจะเห็นผล อุจจาระที่ออกมาเป็นสีเหลือง ไม่มีกลิ่นเหม็น การกินกล้วยสุกก็ต้องเคี้ยวให้ละเอียด นานๆ เพราะกล้วยเป็นผลไม้ที่มีแป้งอยู่ถึง 20 -25 % ของเนื้อกล้วย จึงสามารถนำมาเป็นอาหารเสริมให้เด็กเล็กได้ ตามปกติ กระเพาะมีเอนไซม์ย่อยแป้งน้อย การเคี้ยวกล้วยให้แหลกละเอียดจะช่วยแป้งได้มากก่อนกลืนลงกระเพาะ หากกินกล้วยโดยเคี้ยวหยาบๆ จะทำให้ท้องอืด จุกแน่น โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ควรเริ่มให้กินกล้วยสุกเมื่อเด็กเริ่มกินข้าวบดได้ อายุราว 3 เดือน โดยขูดเนื้อกล้วยสุก ( ไม่เอาไส้กล้วยเพราะจะทำให้เด็กท้องผูก ) ให้กินคราวละน้อยๆ ไม่ควรเกินครึ่งช้อนชา วันละครั้ง เพราะเด็กยังมีน้ำย่อยแป้งไม่พออาจเกิดอาการท้องอืดได้ เด็กอายุครบขวบกินกล้วยครั้งละ 1 ลูก วันละครั้งก็พอ

นอกจากนี้ เด็กที่มีผิวหนังเป็นตุ่มคันจากยุงกัด มดกัด หรือเป็นผื่นคันเนื่องจากลมพิษ สามารถใช้เปลือกกล้วยน้ำว้าสุกด้านใน ทาถูบริเวณนั้นสักครึ่งนาที รับรองว่าอาการคันจะหายเป็นปลิดทิ้ง

นี่เป็นเคล็ดลับภูมิปัญญาไทยที่ใช้กล้วยน้ำว้าเป็นยาสามัญประจำครัวเรือน กล้วยน้ำว้ามีประโยชน์มากมายมหาศาล นอกจากกล้วยที่เป็นผลไม้ อาหาร และสารพัดขนม ใบตองกล้วยยังใช้ทำกระทงใส่ข้าว ของคาว ของหวานแทนถ้วยชาม กาบกล้วยใช้ทำเชือก ซึ่งไม่เคยก่อปัญหาภาวะต่อสิ่งแวดล้อม คนไทยในยุคน้ำมันแพง น่าจะหันกลับมาสร้างค่านิยมปอกกล้วยเข้าปาก เพื่อสุขภาพพลานามัยที่ดีในราคาประหยัด สุดคุ้มเหมือนในยุคปู่ย่า ตายายของเรา

แหล่งข้อมูลที่มา http://board.postjung.com/680556.html

วิธีรักษาอาการของโรคกระเพาะ

วิธีรักษาอาการของโรคกระเพาะ


โรคกระเพาะอาหาร คือ ภาวะที่มีแผลเยื่อบุกระเพาะ หรือลำไส้ถูกทำลายถึงแม้ว่าจะเรียกว่าโรคกระเพาะ แต่สามารถเป็นได้ทั้งที่กระเพาะ หรือลำไส้ ถ้าเป็นเฉพาะเยื่อบุกระเพาะเรียก gastritis แต่ถ้าเป็นแผลถึงชั้นลึก muscularis mucosa เรียก ulcer ถ้าแผลอยู่ที่กระเพาะเรียก gastric ulcer ถ้าแผลอยู่ที่ลำไส้เล็กเรียก duodenal ulcer โรคกระเพาะพบได้ทุกวัย

อาการของโรคแผลในกระเพาะอาหาร

  •  ปวดหรือจุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุด มักเป็นเวลาท้องว่าง หรือเวลาหิว อาการ
  •  ปวดแน่นท้อง มักจะบรรเทาได้ด้วยอาหาร หรือยาลดกรด ผู้ป่วยบางคนอาการปวดจะเป็นมากขึ้นหลังอาหาร โดยเฉพาะอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เป็นต้น
  •  อาการปวดมักเป็น ๆ หาย ๆ มานานเป็นปี โดยมีช่วงเว้นที่ปลอดอาการค่อนข้างนาน เช่น ปวดอยู่ 1-2 สัปดาห์ และหายไปหลาย ๆ เดือน จึงกลับมาปวดอีก 
  • บางรายจะไม่มีอาการปวดท้อง แต่จะมีอาการแน่นท้อง หรือรู้สึกไม่สบายในท้อง มักจะเป็นบริเวณใต้ลิ้นปี่ หรือกลางท้องรอบสะดือ มักมีอาการท้องอืดร่วมด้วย โดยเฉพาะหลังกินอาหารท้องจะอืดขึ้นชัดเจน มีลมมากในท้อง ท้องร้องโกรกกราก ต้องเรอหรือผายลมจะดีขึ้น อาจมีคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย โดยเฉพาะหลังอาหารแต่ละมื้อ หรือช่วงเช้ามืดผู้ป่วยอาจมีอาการอิ่มง่ายกว่าปกติ ทำให้กินได้น้อยลง และน้ำหนักลดลงบ้างเล็กน้อย

วิธีรักษาอาการของโรคกระเพาะ

วิธีรักษาอาการของโรคกระเพาะ อาหารแบ่งเป็น 2 วิธี ซึ่งจะต้องปฏิบัติควบคู่กันอย่างเคร่งครัด คือ
     1. การปฏิบัติตัวเพื่อกำจัดสาเหตุการเกิดโรค
         1.1กินอาหารให้เป็นเวลา ไม่ปล่อยให้ท้องว่าง
         1.2 งดอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
         1.3 งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
         1.4 งดดื่มชา และ กาแฟ
         1.5 งดสูบบุหรี่
         1.6 พักผ่อนให้เพียงพอ ลดความเครียด ไม่หงุดหงิดโมโหง่าย
         1.7 งดการใช้ยาที่มีผลต่อกระเพาะอาหาร

     2. การรักษาด้วยยา
         ยาที่ใช้ในการรักษามีหลายกลุ่ม แต่สิ่งสำคัญในการใช้ยาคือ ต้องกินยาให้สม่ำเสมอ ครบตามจำนวนและระยะเวลาที่กำหนด โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 4 - 6 สัปดาห์ แผลจึงจะหาย หลังกินยาไประยะหนึ่งถึงแม้อาการจะดีขึ้น ก็ห้ามหยุดยา ต้องกินต่อจนครบตามกำหนด เพื่อให้แน่ใจว่าแผลหาย และไม่กลับมาเป็นซ้ำ นอกจากนี้หลังกินยาจนครบกำหนดก็ควรปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงสาเหตุของโรคอย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นอาจกลับมาเป็นซ้ำได้

การใช้สมุนไพรบำบัดโรคกระเพาะอาหาร

  • กล้วยน้ำว้า นำกล้วยน้ำว้าดิบฝานเป็นแว่นๆแล้วตากแดดประมาณ 2 วัน หรืออบให้แห้งในอุณหภูมิ 50 °C แล้วบดให้ละเอียดเป็นผง ใส่ขวดเก็บไว้ ใช้ผง 1-2 ช้อนโต๊ะชงน้ำอุ่น หรือผสมกับน้ำผึ้งดื่ม 1 ช้อนโต๊ะ ผสมให้เข้ากัน กินก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง และก่อนนอน
  • ขมิ้นชัน ใช้เหง้าแก่สด ล้างให้สะอาด ไม่ต้องปลอกเปลือก หั่นเป็นชิ้นบางๆ ตากแดดจัด 1-2 วัน บดให้ละเอียด ผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นให้เหมือนลูกกลอน กินครั้งละ 3-4 เม็ด หรือเก็บไว้ในขวดแล้วใช้ผง 1 ช้อนชา ผสมน้ำผึ่ง 1 ช้อนโต๊ะดื่ม วันละ 4 ครั้ง กินหลังอาหาร และก่อนนอน
  • ว่านหางจระเข้ ใช้ใบสดที่เพิ่งตัดออกจากต้น นำมาล้างให้สะอาด ปอกเปลือกส่วนที่มีสีเขียวออกให้หมดเหลือแต่วุ้นใส หากมียางสีเหลืองติดที่วุ้นให้ล้างออกก่อน หั่นวุ้นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 3 นิ้ว ล้างให้สะอาดอีกครั้ง กินวันละ 2 เวลา ก่อนอาหารเช้า เย็น
  • กระเจี๊ยบเขียว ใช้ผักลวกกินน้ำพริกทุกวัน เมือกลื่นๆ ในผลกระเจี๊ยบเขียว ช่วยเคลือบแผลในกระเพาะอาหารได้

    นอกจากนี้ คุณควรพึงระลึกไว้เสมอว่า โรคแผลในกระเพาะอาหารมักเป็นโรคเรื้อรัง เมื่อรักษาแผลหายแล้วยังมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก หลังได้รับยา อาการปวดจะหายไปก่อนใน 3-7 วัน แต่แผลจะยังไม่หาย ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยารักษาติดต่อกันเป็นเวลานาน 4-8 สัปดาห์ แผลจึงหาย เมื่อหายแล้วจะกลับมาเป็นใหม่ได้อีก ถ้าไม่ปฏิบัติตัวให้ถูกต้องหรือถ้ายังไม่สามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารให้หมดไปได้
 

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม