ขับเคลื่อนโดย Blogger.

วิธีรักษา โรคกระเพาะอาหารอักเสบ

วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วิธีรักษา โรคกระเพาะอาหารอักเสบ

โรคกระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) คือ โรคที่เกิดจากมีการอักเสบ บวม แดง ของเยื่อเมือกบุภายในกระเพาะอาหาร เป็นโรคพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ และพบโรคเกิดได้ใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย

โรคกระเพาะอาหารอักเสบ เป็นโรคพบได้บ่อย แต่สถิติการเกิดโรคไม่ชัดเจน ทั้งนี้เพราะเมื่อผู้ป่วยพบแพทย์ แพทย์มักให้การรักษาตามอาการ เมื่ออาการดีขึ้น จึงไม่มีการตรวจเพื่อการวินิจฉัยที่แน่ชัด ซึ่งคือ การส่องกล้องกระเพาะอาหารและตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา การส่องกล้องและการตัดชิ้นเนื้อ มักเป็นการตรวจภายหลังเมื่อให้การรักษาในเบื้องต้นแล้ว ผู้ป่วยยังคงมีอาการอยู่ ไม่ดีขึ้น มีอาการเลวลง หรือมีอาการเป็นๆหายๆเรื้อรังเป็นเดือน ทั้งนี้ มีรายงานจากประเทศสหรัฐอเมริกา พบผู้ป่วยที่มีอาการและแพทย์วินิจฉัยขั้นต้นว่า เป็น โรคกระเพาะอาหารอักเสบ สูงถึงประมาณ 1.8-2.1 ล้านคนต่อปี

โรคกระเพาะอาหารอักเสบ เมื่อมีอาการและรักษาได้หายภายในประมาณ 1-3 สัปดาห์ เรียกว่า โรคกระเพาะอาหารอักเสบเฉียบพลัน แต่เมื่อมีอาการเรื้อรัง เป็นๆหายๆ นานเป็นเดือน หรือ เป็นปี เรียกว่า โรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง

โรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง จะส่งผลให้เซลล์เยื่อเมือกบุกระเพาะอาหารมีปริมาณลดลง เกิดการฝ่อลีบ และเซลล์เยื่อเมือกอาจมีการเปลี่ยนแปลงผิดปกติสูง ซึ่งเพิ่มโอกาสกลายพันธุ์เป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้สูงกว่าคนทั่วไป ถึงประมาณ 10 เท่า และถ้ากระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง เกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย เอช ไพโลไร (Helicobacter pylori หรือ H. pylori) ซึ่งอาจติดต่อได้จากการสัมผัสน้ำลาย และ/หรือ อุจจาระของคนที่เป็นโรค จากการปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม จะมีโอกาสเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของกระเพาะอาหาร หรือโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้ประมาณ 1-2 %

นอกจากนั้น การลดปริมาณลงของเซลล์เยื่อเมือกจะลดการสร้างสารซึ่งเป็นตัวช่วยการดูดซึมวิตามิน บี 12 ซึ่งเป็นวิตามินที่ร่างกายใช้ในการช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ผู้ป่วยจึงอาจเกิดภาวะซีดได้อีกด้วย

สาเหตุของการเกิด โรคกระเพาะอาหารอักเสบ

กลไกของการเกิดกระเพาะอาหารอักเสบเกิดจากการหลั่งกรดที่มากขึ้น(Hyperacidity)และคั่งค้างอยู่นานในกระเพาะ(Delay gastric emptying time) ก่อให้เกิดการบาดเจ็บของเยื่อบุกระเพาะอาหาร มีสาเหตุจาก
  1. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  2. ยาแก้ปวดข้อ เช่น Aspirin, Ibuprofen หรือยาซองแก้ปวด
  3. ความเครียดรุนแรง
  4. การติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารคือ H. pylori

อาการของ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ

1. ปวดท้องลักษณะอาการปวดท้องที่สำคัญ คือ
    1.1. ปวดบริเวณลิ้มปี ปวดแบบแสบๆหรือร้อนๆ ปวดเรื้อรังมานาน เป็นๆ หายๆ เป็นเดือนหรือเป็นปี
    1.2. ปวดสัมพันธ์กับอาหาร เช่น ปวดเวลาหิวหรือท้องว่างเมื่อกินอาหารหรือนม จะหายปวดบางรายจะปวดหลังจากกินอาหารหรือนมจะหายปวดบางรายจะปวดหลังจากกินอาหาร
    1.3. ปวดกลางดึกก็ได้
    1.4. อาการจะเป็นๆ หายๆ
2. จุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ เรอลม มีลมในท้อง ร้อนในท้อง คลื่นไส้อาเจียน
3. อาการโรคแทรกซ้อน ได้แก่แผลกระเพาะอาหาร
    3.1. อาเจียนเป็นเลือดดำ หรือแดง หรือถ่ายดำ เนื่องจากมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้เล็กส่วนต้น
    3.2. ปวดท้องรุนแรง และ ช๊อค เนื่องจากแผลกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กทะลุ
    3.3. ปวดท้องและอาเจียนมาก เนื่องจากการอุดต้นของกระเพาะอาหาร
อาการของโรคกระเพาะอาหารจะไม่สัมพันธ์กับความรุนแรงของโรค บางรายไม่มีอาการปวดท้อง แต่มีแผลใหญ่มากในกระเพราะอาหาร หรือลำไส้ บางรายปวดท้องมากแต่ไม่มีแผลเลยก็ได้

การวินิจฉัย โรคกระเพาะอาหารอักเสบ

ใช้อาการทางคลินิกเป็นสำคัญ ร่วมกับประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ กินยาซอง ยาแก้ปวดข้อ ปวดรอบเดือน ปวดไมเกรน  อาจต้องวินิจฉัยแยกโรคจากแผลในกระเพาะอาหาร(Peptic ulcer) ซึ่งมักจะมีอาการปวดบิดๆเป็นพักๆร่วมกับเวลากลางคืน หรือ นิ่วในถุงน้ำดี(Gall stone) ซึ่งมักจะปวดตื้อๆบริเวณชายโครงด้านขวาเป็นเวลานาน หรือตับอ่อนอักเสบ(Pancreatitis)ซึ่งมักจะปวดทะลุหลังร่วมกับมีไข้ หรือกระเพาะเครียด(Functional dyspepsia)ซึ่งแยกกับกระเพาะอาหารอักเสบได้ยาก

ในกรณีที่อาการไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรือเกิดขึ้นซ้ำหลังจากที่รักษาหายไปแล้ว โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์หรือยาแก้ปวด หรือสงสัยว่าอาการเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย H. pylori การตรวจเพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัย โรคกระเพาะอาหาร อักเสบที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือ การใช้กล้องส่องตรวจทางเดินอาหารส่วนบน (Upper GI endoscopy) ส่วนการกลืนแป้งฉายภาพรังสี(Upper GI study หรือ GISM)นั้น ให้ประโยชน์ไม่ช่วยในการวินิจฉัยโรคนี้ ก่อนที่ผู้ป่วยจะส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารส่วนบนนั้น จะต้องงดอาหารก่อนตรวจ 6ชม. ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานควรงดยาเบาหวานในเช้าวันนั้น สำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงสามารถรับประทานยาลดความดันโดยดื่มน้ำเปล่าเล็กน้อย หากมีฟันปลอมชนิดถอดได้ควรถอดเพื่อป้องกันฟันปลอมหลุดเข้าไปในช่องลำคอหรือหลอดลม

วิธีรักษา โรคกระเพาะอาหารอักเสบ

1. การบรรเทาอาการปวดท้อง ใช้หลักการของด่างมาสะเทิ้นกรดภายในกระเพาะ ยาที่นิยมใช้คือยาธาตุน้ำขาว(Alum milk) หรือใช้เป็นยาเม็ดอลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ก็ได้ผลเช่นกัน  ซึ่งในกรณีของยาเม็ดควรเคี้ยวก่อนกลืนเพราะยาเม็ดบางชนิดแตกตัวในกระเพาะอาหารช้า ยากลุ่มนี้จะรับประทานก่อนอาหาร 3เวลา หรืออาจรับประทานเพิ่มเติมเมื่อมีการปวดระหว่างมื้อ  นอกจากนี้ควรเลี่ยงอาหารรสจัด น้ำอัดลม กาแฟซึ่งอาจกระตุ้นอาการปวดท้อง

2. การรักษาการอักเสบของเยื่อบุกระเพาะอาหาร  ใช้ยารักษานาน 14วัน นิยมใช้ยาลดการหลั่งกรด(Acid suppression) ได้แก่ ยากลุ่ม H2 receptor antagonists หรือยากลุ่ม Proton pump inhibitors เพราะหาซื้อได้สะดวกตามร้านขายยา ส่วนยากลุ่ม Cytoprotective เช่น Sucralfate หรือ Bismuth ก็สามารถใช้ได้

3. การป้องกันการเกิดซ้ำ คือการป้องกันสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบ โดยหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด หรือยาแก้ปวดข้อ การออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันโรค

4. การป้องกันภาวะแทรกซ้อน ส่วนใหญ่ภาวะแทรกซ้อนมักเกิดจากยาแก้ปวดข้อ เนื่องจากยานี้จะลดอาการปวดได้ขณะที่ยากัดกระเพาะ ทำให้อาการปวดท้องซึ่งเป็นอาการเตือนถูกบดบัง ภาวะแทรกซ้อนมักเกิดในผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นแผลในกระเพาะมาก่อน ผู้ป่วยที่รับประทานยาชุด-ยาลูกกลอน เมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นมา การรักษามักจะต้องใช้การส่องกล้องรักษาหรืออาจต้องผ่าตัดถ้ามีกระเพาะอาหารทะลุ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม