ขับเคลื่อนโดย Blogger.

สมุนไพรสำหรับรักษา โรคกระเพาะ

วันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2557


สมุนไพรสำหรับรักษา โรคกระเพาะ


โรคกระเพาะ หรือโรคแผลในกระเพาะอาหาร หมายถึง แผลที่เกิดขึ้นในเยื่อบุทางเดินอาหารส่วนที่สัมผัสกับน้ำย่อย มักมีอาการปวดแสบ ปวดตื้อ ปวดเสียด หรือจุกแน่น ตรงบริเวณใต้ลิ้นปี่ อาการปวดเหล่านี้ เป็นได้ทั้งเวลาก่อนกินอาหาร หรือหลังกินอาหารใหม่ๆ และเวลาท้องว่าง บางคนอาจเป็นๆ หายๆ เวลาเป็นมักจะปวดนานครั้งละ 15-30 นาที วันละหลายครั้งตามมื้ออาหาร อาการปวดจะลดลงถ้าได้กินข้าว ดื่มน้ำ ดื่มนม หรือกินยาลดกรด

สาเหตุของการเกิดโรคกระเพาะ

เชื่อกันว่าส่วนใหญ่มาจากการมีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป ซึ่งอาจมีผลมาจากความเครียด ความวิตกกังวล การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ กินอาหารไม่เป็นเวลา อาหารรสจัด รวมทั้งปัจจัยทางกรรมพันธุ์เป็นสาเหตุหลัก นอกจากนี้ ยังเกิดจากการที่เยื่อบุกระเพาะอาหารอ่อนแอลง อันเป็นผลมาจากการกินยาบางประเภท เช่น ยาแก้ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ยาชุดที่มีแอสไพริน และยาสเตียรอยด์ รวมทั้งการติดเชื้อ "เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร" (Helicobacter) เชื่อว่าติดต่อโดยการรับประทานอาหาร น้ำ ที่มีเชื้อตัวนี้อยู่ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้เช่นกัน เพราะเชื้อนี้ทำให้ผนังกระเพาะอาหารอ่อนแอลง จึงมีความทนต่อกรดและน้ำย่อยลดลง

 ในทางการแพทย์แผนไทย การที่มีกรดมากเกินไป การเป็นแผลในกระเพาะอาหาร การมีเลือดออก คือ การกำเริบของธาตุไฟ

กระเพาะอาหารเป็นอวัยวะที่ไวต่ออารมณ์ความรู้สึกมากที่สุด โรคกระเพาะจึงเป็นผลพวงของความผิดปกติของวาตะได้มากเช่นกัน ดังนั้น คนที่มีแต่ความเครียด คิดมาก วิตกกังวล เช่น นักธุรกิจที่ต้องแข่งขันสูง นักศึกษาที่เครียดจากการเรียนการสอบ มักจะป่วยเป็นโรคกระเพาะ เนื่องจากความเครียดจะทำให้ผนังกระเพาะบางลง เลือดไปเลี้ยงกระเพาะน้อยลง การหลั่งกรดไม่สม่ำเสมอ บางครั้งมากไป บางครั้งน้อยไป ซึ่งเป็นผลเสียทั้งสองแบบ ถ้ากรดหลั่งมากไปก็นำไปสู่การย่อยผนังกระเพาะ ถ้าน้อยไปอาหารก็จะไม่ย่อย เกิดการหมักหมม เกิดแก๊สนำไปสู่การเกิดแผลในกระเพาะได้เช่นกัน กล่าวคือ แม้ความผิดปกติจะเริ่มจากธาตุลม แต่ก็นำไปสู่การกำเริบของธาตุไฟได้เช่นกัน

การรักษากระเพาะอาหาร

มุ่งเน้นการปรับสมดุลโดยใช้ทั้งอาหาร ยาสมุนไพร การออกกำลังกาย การฝึกจิต โรคกระเพาะเป็นโรคหนึ่งที่จะต้องรักษาแบบองค์รวม เริ่มจากการปรับการทำงานของธาตุลม โดยการฝึกทางจิต ฝึกการหายใจ เพื่อลดความเครียด ทำให้จิตใจปล่อยวาง ในส่วนของการปรับสมดุลของธาตุไฟ ต้องงดอาหารที่จะไปเพิ่มธาตุไฟเช่น ของหมักดอง อาหารรสจัด อาหารมัน อาหารทอด อาหารรสหวานจัด เหล้า บุหรี่ นอกจากนี้ต้องกินอาหารที่ไม่ไปรบกวนการทำงานของธาตุ เช่น อาหารย่อยง่าย ผักสด เป็นต้น

การใช้สมุนไพรรักษาโรคกระเพาะ

มุ่งเน้นการลดธาตุไฟ เป็นสมุนไพรที่มีคุณสมบัติเย็น รสขม มีคุณสมบัติหล่อลื่น ช่วยรักษาแผล เช่น วุ้นว่านหางจระเข้ รากสามสิบ กระเจี๊ยบมอญ บัวบก กะหล่ำปลี ชะเอม บอระเพ็ด กล้วยหักมุก หรือกล้วยน้ำว้าแก่จัด (ไม่ใช้กล้วยหอมเนื่องจากกล้วยหอมมีคุณสมบัติร้อน) และในส่วนของเครื่องเทศ เพื่อเป็นการเพิ่มอัคนีหรือไฟธาตุในการช่วยย่อยอาหาร ขมิ้นชันจึงเป็นสมุนไพรที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง เพราะไม่ร้อนมากเกินไป ทั้งยังช่วยรักษาแผล ลดการหลั่งของกรดได้อีกด้วย

ยังมีสมุนไพรที่น่าสนใจดังนี้

 1. ว่านหางจระเข้ สามารถใช้วุ้นว่านหางจระเข้รักษาโรคกระเพาะได้เช่นกัน

 2. กะหล่ำปลี แม้ว่ากะหล่ำปลีจะไม่ใช่สมุนไพรไทยมาแต่เดิม แต่หมอชาวโรมันใช้กะหล่ำปลีรักษาโรคกระเพาะอาหาร อาการนอนไม่หลับ อาการปวดท้อง เป็นต้น เนื่องจากสารในกระหล่ำปลีมีคุณสมบัติลดการอักเสบ และกระตุ้นการสร้างเยื่อเมือกเพื่อไปปกป้องผนังกระเพาะอาหารและลำไส้ ไม่ให้เกิดแผลจากการย่อยของกรด กะหล่ำปลียังมีสารที่ช่วยสมานแผลในกระเพาะ นอกจากนี้ กะหล่ำปลียังช่วยคลายเครียดได้ดีอีกด้วย

 3. ขมิ้นชัน เป็นสมุนไพรที่คนไทยใช้รับประทานเป็นอาหาร เป็นยา และใช้เป็นเครื่องสำอางมาอย่างยาวนาน ด้วยคุณสมบัติที่เป็นเครื่องเทศช่วยย่อยอาหาร สามารถใช้ได้กับทุกคนแม้กระทั่งในเด็ก และสามารถใช้เป็นยาทั้งภายในและภายนอก โดยยาภายนอกใช้รักษาแผลสด ช้ำบวม แมลงสัตว์กัดต่อย ยุงกัด และปัจจุบันยังพบว่าขมิ้นชัน มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ต้านการอักเสบ ฆ่าเชื้อ ขับลม จึงเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคกระเพาะเป็นอย่างยิ่ง

 สิ่งสำคัญของการรักษาโรคกระเพราะ คือ ผู้ป่วยควรตระหนักว่าการรักษาโรคกระเพาะต้องใช้เวลาและวินัยในการปฏิบัติตัวอย่างยิ่ง ดังนั้น การพักผ่อนให้เพียงพอ การกินอาหารให้เป็นเวลา เคี้ยวให้ละเอียด หลีกเลี่ยงอาหารย่อยยาก การดื่มน้ำระหว่างมื้อให้มากๆ ลดความเครียด ความกังวล สิ่งเหล้านี้ล้วนเป็นตัวยาที่สำคัญในการรักษาโรคกระเพาะทั้งสิ้น

แหล่งที่มา: http://www.oknation.net/blog/print.php?id=843516

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม